การติดตั้งกล้องวงจรปิด 6 ประเภท เลือกแบบไหนให้เหมาะกับบ้าน

การติดตั้งกล้องวงจรปิด การติดตั้งกล้องวงจรปิด ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ซื้อบ้าน หรือสร้างบ้านควรรู้และมีติดบ้าน หากเป็นเมื่อก่อนหลายคนอาจมองว่าการติดตั้งกล้องวงจรปิดนั้นมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก แต่ปัจจุบันกล้องวงจรปิดเป็นอุปกรณ์ที่เข้าถึงง่าย การติดตั้งกล้องวงจรปิดทำได้ไม่ยาก และมีราคาถูกลง ทำให้กล้องวงจรปิดเป็นอุปกรณ์สามัญประจำบ้านที่ควรมี

เหมาะสำหรับผู้ที่ซื้อบ้านแล้วต้องการให้การอยู่อาศัยปลอดภัย สบายใจมากยิ่งขึ้น ในบทความนี้จะเป็นการแนะนำการเลือกกล้องวงจรปิดที่เหมาะกับการใช้งานแต่ละประเภท รวมไปถึงการติดตั้งกล้องวงจรปิดด้วยตัวเองที่สามารถทำตามได้ไม่ยาก

ประโยชน์ของการติดตั้งกล้องวงจรปิด

ก่อนอื่นเลยลองมาดูกันก่อนว่างประโยชน์ของการติดตั้งกล้องวงจรปิดนั้นมีอะไรบ้าง ดังนี้

– ป้องกันเหตุร้ายไม่ให้เกิดขึ้น

– ตรวจสอบความปลอดภัยภายในบ้านได้ตลอดเวลา

– ลดอัตราการเกิดโจรกรรมในบ้าน

– เพิ่มความปลอดภัยในพื้นที่ ๆ เข้าไม่ถึง

– ลดค่าประกันภัยได้ 5-10%

รู้จักประเภทของกล้องวงจรปิด

ปัจจุบันกล้องวงจรปิดมีด้วยกันหลายประเภท ซึ่งก็มีความแตกต่างกันไปทั้งในเรื่องของราคา ความเหมาะสมกับสถานที่ จุดประสงค์การใช้งาน ฟังก์ชั่น และวิธีติดตั้งกล้องวงจรปิด ได้แก่

1. กล้องวงจรปิดแบบมาตรฐาน (Standard Camera)

วิธีติดตั้งกล้องวงจรปิดแบบมาตรฐาน

เป็นกล้องที่มีการใช้งานตามชื่อ คือสามารถติดตั้งได้ในทุก ๆ สถานที่ เพื่อป้องกันเหตุร้ายและตรวจสอบดูเหตุการณ์ โดยกล้องวงจรปิดแบบมาตรฐานมักจะพบเห็นได้ทั่วไปโดยเฉพาะภายในอาคาร มีราคาไม่แพง ขึ้นอยู่กับรุ่นและความคมชัดของกล้อง

มีวิธีติดตั้งกล้องวงจรปิดที่ไม่ยาก โดยมีอุปกรณ์ที่จำเป็นคือ กล้อง, เลนส์, ขายึด และอแดปเตอร์ นอกจากนั้นกล้องแบบมาตรฐานยังสามารถเปลี่ยนเลนส์ได้ ทำให้มีอุปกรณ์เสริมมากมายที่สามารถนำมาใช้กับกล้องวงจรปิดชนิดนี้ เช่น

– กล่องครอบกล้องวงจรปิดแบบในอาคาร (Housing Indoor) เพื่อกันฝุ่น เหมาะกับการติดตั้งในที่ร่มและที่ ๆ มีฝุ่นละออง

– กล่องครอบกล้องวงจรปิดแบบนอกอาคาร (Housing Outdoor) สำหรับติดตั้งในที่แจ้ง เพื่อป้องกันแสงแดด รวมถึงมีความทนทานสูงด้วย

2. กล้องวงจรปิดแบบโดม (Dome Camera)

กล้องวงจรปิดแบบโดมมี 2 แบบ

กล้องวงจรปิดแบบโดม เป็นที่นิยมในการนำมาติดตั้งภายในอาคาร เนื่องจากถูกออกแบบมาให้มีความกะทัดรัด มีขนาดเล็กรูปทรงคล้ายโดม มีความสวยงาม โดยจะพบเห็นได้ในบริเวณห้องต่าง ๆ ภายในอาคารสำนักงาน, ภายในลิฟต์ หรือภายในโรงแรม เป็นต้น

โดยมีทั้งแบบธรรมดาที่ไม่มีอินฟราเรด กับที่มีอินฟราเรด โดยวิธีติดตั้งกล้องวงจรปิดประเภทโดม นิยมติดตั้งบนฝ้าเพดาน ไม่ควรติดตั้งตามแนวกำแพงหรือบริเวณภายนอกอาคาร เพราะไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อกันน้ำและรองรับการใช้งานภายนอกอาคาร

3. กล้องวงจรปิดอินฟาเรด (IR Camera)

กล้องวงจรปิดอินฟาเรด เหมาะสำหรับใช้งานกลางคืน

กล้องวงจรปิดแบบอินฟาเรด ถูกออกแบบมาให้ใช้งานในเวลากลางคืนได้ดีมากกว่ารุ่นอื่น ๆ ผ่านหลอด LED อินฟาเรด ที่ถูกติดตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของกล้อง โดยในเวลากลางวันกล้องจะแสดงภาพเป็นสีปกติ ส่วนในเวลากลางคืนภาพจะแสดงเป็นภาพขาวดำอัตโนมัติ

จุดเด่นคือผลิตจากวัสดุทนทาน เหมาะกับสถานที่ที่มืดสนิทในเวลากลางคืน เช่น โกดังเก็บของ ในห้องทึบ เป็นต้น

โดยควรเลือกซื้อระยะของอินฟาเรดให้สอดคล้องกับพื้นที่ที่ต้องการติดตั้ง เช่น 10 เมตร 20 เมตร 30 เมตร เป็นต้น โดยอุปกรณ์จำเป็นที่ติดมากับกล้องวงจรปิดแบบอินฟาเรด ได้แก่ กล้อง, เลนส์, ขายึด และอแดปเตอร์

4. กล้องวงจรปิดแบบ Bullet

กล้องวงจรปิดแบบ Bullet ทนแดด ทนฝน

เป็นกล้องวงจรปิดชนิดที่สามารถใช้ได้ในที่ร่มและภายนอกอาคาร มักจะพบเห็นตามอาคารพาณิชย์หรือตึกแถว โดยตัวกล้องถูกออกแบบให้มีขนาดเล็ก มีการออกแบบวงจรให้มีประสิทธิของการแสดงภาพที่สว่างในเวลากลางคืน ทนแดด และทนฝนได้ดี

5. กล้องวงจรปิดแบบแอบซ่อน (Hidden Camera)

กล้องวงจรปิดแบบแอบซ่อน มีขนาดเล็ก

เป็นกล้องที่มีขนาดเล็กเพราะไม่ต้องการให้รู้ว่ามีกล้องอยู่ เช่น กล้องรูเข็ม กล้องหลอดไฟ หรือกล้องกระจก มักติดตั้งในสถานที่ ๆ ต้องการความปลอดภัย แต่ไม่อยากให้ใครเห็นกล้อง

6. กล้องวงจรปิดแบบซูมและหมุนได้ (Zoom Camera)

กล้องที่นิยมนำมาติดตั้งภายในบ้าน หรือคอนโด เนื่องจากสามารถซูมและหมุนได้รอบทิศทาง ผ่านทางคันบังคับหรือควบคุมผ่านอินเตอร์เน็ต ทำให้สามารถตรวจสอบความเป็นไปภายในบ้านได้ตลอดเวลา และสามารถตั้งกล้องให้หมุนได้เองอัตโนมัติตามจุดต่าง ๆ ที่กำหนดไว้อีกด้วย โดยปัจจุบันมีการเรียกกล้องชนิดนี้ว่า Speed Dome Camera

กล้องวงจรปิดแบบซูมและหมุนได้ เหมาะกับการใช้งานในบ้าน

เลือกซื้อกล้องวงจรปิด ต้องดูอะไรบ้าง

– จุดประสงค์การใช้งาน โดยดูว่าต้องการติดตั้งเพื่ออะไร เช่น เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยของบ้าน เพื่อตรวจสอบสมาชิกหรือสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน หรือ เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อเลือกความละเอียดของกล้องและเลนส์ที่เหมาะสม ไม่ต้องจ่ายเงินเกินความจำเป็น

– พื้นที่ที่จะติดตั้ง เพื่อเลือกประเภทของกล้องที่มีความเหมาะสมและทนทานเหมาะกับสถานที่ พร้อมทั้งดูขนาดห้อง แสง ความสว่าง เป็นต้น

– ระยะของเลนส์ที่เหมาะสม เลนส์ของกล้องวงจรปิด มีตั้งแต่เลนส์ขนาด 2.8-12 มิลลิเมตร โดยเลนส์ขนาดเล็ก จะแสดงภาพในระยะที่กว้างมากกว่า (มากสุด 12 เมตร) แต่มีระยะส่องถึงที่น้อยกว่า (น้อยสุด 2 เมตร) ส่วนเลนส์ที่มีขนาดกว้างจะแสดงภาพในความกว้างที่แคบกว่า (น้อยสุด 2 เมตร) แต่สามารถส่องได้ในระยะที่ไกลกว่า (มากสุด 15 เมตร)

– งบประมาณที่เหมาะสม หากมีงบประมาณไม่มากนัก ควรเลือกกล้องระบบ wifi ที่มีความจำในตัว แต่หากมีงบประมาณมากพอสมควร สามารถเลือกกล้องแบบ IP ที่รองรับการใช้งานจำนวนมาก และเชื่อมต่อผ่านระบบอินเตอร์เน็ตได้

วิธีติดตั้งกล้องวงจรปิด

วิธีติดตั้งกล้องวงจรปิดด้วยตัวเองไม่ยากอย่างที่คิด

ปัจจุบันเริ่มนิยมติดตั้งกล้องด้วยตัวเองมากขึ้นผ่านการหาข้อมูลวิธีติดตั้งกล้องวงจรปิด หากมีความชำนาญและมีความรู้เรื่องช่าง ก็สามารถทำด้วยตัวเองได้ไม่ยาก ตามขั้นตอนดังนี้

1. อุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการติดตั้ง ควรเตรียมให้เรียบร้อย ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะบรรจุมาพร้อมอุปกรณ์กล้อง ได้แก่ สายไฟ BNC และ DC, เครื่องบันทึก DVR, ตัวกล้อง และอแดปเตอร์

2. ติดตั้งสายไฟและต่อหัว BNC และ DC เข้ากับกล้องวงจรปิด โดยให้สังเกตว่าด้านไหนเป็นด้านที่ใช้ต่อกับกล้องวงจรปิด

3. ต่อหัว BNC อีกด้านของสายเข้ากับเครื่องบันทึก DVR

4. ต่อสาย DC เข้ากับสายแยกไฟจ่าย เพื่อสามารถติดตั้งกับกล้องตัวอื่นๆ ได้อีก

5. ต่อสาย DC จากสายแยกไฟจ่ายกับเครื่องบันทึก DVR

6. ต่อด้านไฟเข้าช่องสายไฟแยกจ่ายกับอแดปเตอร์

สำหรับคนที่ไม่มีความชำนาญเรื่องช่าง หรือไม่รู้วิธีติดตั้งกล้องวงจรปิด ก็สามารถซื้อกล้องวงจรปิดพร้อมบริการติดตั้ง และดูแลหลังการขายแบบครบวงจรได้ตามร้านขายกล้องวงจรปิดชั้นนำทั่วไป ซึ่งจะทำให้ได้รับคำแนะนำที่เหมาะสม มีวิธีติดตั้งกล้องวงจรปิดถูกต้องตามหลักผู้เชี่ยวชาญ และอุ่นใจในเรื่องบริการหลังการขายหากกล้องมีปัญหาอีกด้วย หรือหาช่างได้จากแอปรวมช่างของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ