การจัดโต๊ะหมู่บูชา ชาวพุทธเชื่อกันว่า การจัดโต๊ะหมู่บูชาพระในบ้านนั้นจะช่วยป้องกันภยันตรายและเสริมสิริมงคลให้กับผู้คนในบ้าน แต่ทั้งนี้ก็ต้องจัดอย่างถูกต้องเหมาะสมด้วย ไม่ว่าจะเรื่องชั้นที่จัด ทิศทาง ตำแหน่ง ไปจนถึงการจัดลำดับพระ ที่นี่เรามีคำแนะนำดี ๆ พร้อมวิธีจัดโต๊ะหมู่บูชาพระและเคล็ดลับเสริมสิริมงคลที่คุณไม่ควรพลาด
Contents
องค์ประกอบและรูปแบบ การจัดโต๊ะหมู่บูชาพระ
นิยมใช้วางโต๊ะขนาดเล็กที่มีความสูงลดหลั่นกันไปบนโต๊ะฐาน และบูชาพระด้วยกระถางธูป 1 กระถาง เชิงเทียนอย่างน้อย 1 คู่ แจกันอย่างน้อย 1 คู่ และพานดอกไม้หรือพานพุ่มอย่างน้อย 1 พาน โดยรูปแบบโต๊ะหมู่บูชาพระที่นิยมจัดในบ้านมีดังนี้
โต๊ะหมู่บูชาหมู่ 3
เป็นโต๊ะหมู่บูชาขนาดเล็กแบบประยุกต์สำหรับบ้านที่มีพื้นที่น้อย โดยประกอบด้วยโต๊ะฐาน 1 ตัว โต๊ะเล็ก 3 ตัวสำหรับวางกระถางธูป เชิงเทียน พานดอกไม้ แจกัน และพระพุทธรูป
โต๊ะหมู่บูชาหมู่ 4
เป็นโต๊ะหมู่บูชาขนาดเล็กที่ประกอบด้วยโต๊ะฐาน 1 ตัว โต๊ะเล็ก 4 ตัวสำหรับวางเหมือนโต๊ะหมู่บูชาหมู่ 3 แต่อาจใช้พานดอกไม้ที่ใหญ่กว่าและวางกระทงเจิมด้วยก็ได้
โต๊ะหมู่บูชาหมู่ 5
โต๊ะแบบนี้เป็นขนาดกลางที่ประกอบด้วยโต๊ะฐาน 1 ตัว โต๊ะเล็ก 5 ตัว โดยสิ่งที่เพิ่มจากโต๊ะหมู่บูชาหมู่ 4 คือ พานพุ่ม โดยอาจวางพานดอกไม้ 3 พาน และพานพุ่ม 2 หรือ 4 พาน
โต๊ะหมู่บูชาหมู่ 7
โต๊ะแบบนี้เป็นขนาดใหญ่สำหรับบ้าน โดยประกอบด้วยโต๊ะฐาน 1 ตัว โต๊ะเล็ก 7 ตัว นิยมวางพระพุทธรูป องค์พระสงฆ์ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือ วางพานพุ่ม และ/หรือพานดอกไม้เพิ่มเติมจากโต๊ะหมู่บูชาหมู่ 5
โต๊ะหมู่บูชาหมู่ 9
โต๊ะแบบนี้เป็นขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยโต๊ะฐาน 1 ตัว โต๊ะเล็ก 9 ตัว โดยมักวางพระพุทธรูป องค์พระสงฆ์ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือ เชิงเทียน พานพุ่ม และ/หรือพานดอกไม้เพิ่มเติมจากโต๊ะหมู่บูชาหมู่ 7
ข้อควรปฏิบัติในการจัดโต๊ะหมู่บูชาพระ
1. โต๊ะหมู่บูชาพระควรอยู่ในห้องชั้นบนสุดของบ้าน
2. หากไม่มีชุดโต๊ะหมู่บูชาพระอย่างในข้างต้น ก็สามารถใช้โต๊ะหรือตั่งที่มีลักษณะและขนาดที่เหมาะสมแทนได้
3. ควรจัดเครื่องสักการะบูชาให้ครบองค์ประกอบ โดยใช้วัสดุอย่างดี เช่น เครื่องแก้ว เครื่องกระเบื้อง เครื่องโลหะ รวมทั้งจัดให้เป็นระเบียบ สะอาด และสวยงาม
4. ต้องมีพระพุทธรูปเป็นพระประธาน ซึ่งเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า และบูชาที่ตำแหน่งสูงสุดของโต๊ะหมู่บูชาพระ
5. ควรจัดลำดับองค์พระอื่น ๆ ตามลำดับบารมี คือ องค์พระอรหันต์ เช่น พระสารีบุตร พระอานนท์ พระสิวลี ควรอยู่สูงกว่าองค์พระอริยสงฆ์ เช่น หลวงปู่ทวด หลวงปู่โต หากบูชาพระอริยสงฆ์หลายองค์ ควรจัดลำดับตามความอาวุโส ทั้งนี้ ให้วางองค์พระลำดับจากซ้ายมายังขวาของพระประธาน
6. หากบูชาพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุ ควรจัดพระบรมสารีริกธาตุให้อยู่ถัดจากหรืออยู่ตำแหน่งรองจากพระพุทธรูป สำหรับพระธาตุนั้น ให้จัดตามลำดับบารมีเช่นกัน โดยบูชาถัดจากหรืออยู่ตำแหน่งรองจากองค์พระของพระธาตุนั้น เช่น วางพระธาตุพระสิวลีไว้ถัดจากองค์พระสิวลี
7. ห้ามวางพานดอกไม้ พานพุ่ม เชิงเทียน และกระถางธูปสูงกว่าองค์พระ
8. หากบ้านเป็นคอนโดหรืออพาร์ทเมนต์ ควรทำฉากหรือผ้าม่านกั้นมุมโต๊ะหมู่บูชาพระให้เป็นสัดส่วน
เคล็ดลับที่ในการจัดโต๊ะหมู่บูชาพระเพื่อเสริมมงคล
1. ตำแหน่งของโต๊ะหมู่บูชาพระควรอยู่ทางทิศเหนือหรือตะวันออกของบ้านและหันหน้าออกหน้าบ้าน ไม่ควรอยู่ที่ตำแหน่งทิศตะวันตก
2. พระประทานควรเป็นพระพุทธรูปปางประจำวันเกิดของเจ้าบ้าน หรือจะตั้งพระแก้วมรกต พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ เป็นพระประทาน และตั้งพระประจำวันเกิดเป็นลำดับรองลงมาก็ได้
3. ไม่ควรวางโต๊ะหมู่บูชาพระหันไปตรงกับประตู
4. ห้ามวางเตียงโดยหันปลายเตียงไปทางห้องพระ
5. ห้ามจัดห้องพระติดกับห้องน้ำ เพราะเชื่อว่าจะทำให้เงินทองรั่วไหลได้ หากจำเป็น ให้หาตู้มาพิงผนังห้องน้ำ และจัดโต๊ะหมู่บูชาพระให้หันหน้าไปทางอื่น
6. ควรตั้งโต๊ะหมู่บูชาพระในตำแหน่งทิศมนตรีของเจ้าบ้าน เพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์มีพลังเกื้อหนุนได้เต็มที่
7. ไม่ควรตั้งโต๊ะหมู่บูชาพระที่ทิศกาลีของเจ้าบ้าน เพราะทิศนี้เป็นทิศเสื่อมของเจ้าบ้าน
เพื่อให้การจัดโต๊ะหมู่บูชาพระเป็นไปอย่างดีที่สุดนั้น ควรเริ่มจากการเลือกบ้านที่มีห้องและพื้นที่ใช้สอยที่เหมาะสมเป็นอันดับแรก ก่อนซื้อบ้าน จึงขอให้ใช้ข้อมูลข้างต้นในการพิจารณาประกอบด้วย
และแน่นอนว่า ข้อมูลเท่านี้ยังไม่พอ เพราะเกี่ยวข้องกับการเลือกห้องพระหรือมุมสำหรับโต๊ะหมู่บูชาพระด้วย
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ